Pond Narongrit

March 15, 2023

ผมมาเป็นนักออกแบบได้ยังไง? EP1 : อารัมภบทและสมมุติฐาน

ว่าด้วยการสืบหาที่มาของตัวตน ซึ่งอาจมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจ จนทำให้ผมสามารถมาเป็นนักออกแบบ (UX/UI Designer) ได้แม้ไม่มีใบปริญญา—ตอนที่ 1



ชีวิตคือความซับซ้อน และทุกเรื่องไม่จำเป็นต้องเรียบง่ายเสมอไป ตราบใดที่ไม่สับสน

Don Norman (ผู้ที่ผมสถาปนาให้เขาเป็น Rockstar ของวงการ UX) อาจไม่เคยพูดประโยคนี้แบบตรงเป๊ะ แต่ก็ใกล้เคียงหากได้ลองอ่านหนังสือที่แกเขียนชื่อ “Living with Complexity” (หรือ อยู่กับความซับซ้อน สำหรับเวอร์ชั่นแปลไทยโดยสำนักพิมพ์ลายเส้น)

ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวว่าชีวิตคือความซับซ้อน มันคือวิถีธรรมดาของโลกอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ในฐานะนักออกแบบ นั่นคือสิ่งที่ผมต้องเอาชนะ (หรือกำจัดมันออกไปให้มากที่สุด) จับความซับซ้อนมาตัดทอน แยกแยะ จัดกลุ่ม หรือด้วยวิธีอะไรก็ตามแต่ที่ทำให้มันเรียบง่ายขึ้น ซึ่งหลังจากหมกอยู่กับหน้าจอจนขาเริ่มชา ความเรียบง่ายที่ผมปราถนาก็เป็นอันสำเร็จ ละผมก็ทำกระบวนการนี้ซ้ำอีกครั้งสำหรับงานต่อไป งานแล้วงานเล่า จนกระทั่งตระหนักกับข้อเท็จจริงอันเย็นชาว่าความซับซ้อนจะไม่มีวันหมดสิ้นไปจากโลก 

ผมไม่ได้บอกว่า เรากำลังใช้เวลาไปโดยเปล่าประโยชน์กับการแก้ปัญหาที่ไม่มีวันหมดสิ้น แต่ที่ผมต้องการจะสื่อคือ ในบางกรณีความซับซ้อนคือความจำเป็น เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ และบ่อยครั้งที่มันไม่ใช่ปัญหาตั้งแต่แรก ไม่งั้นการขับเครื่องบินคงเป็นเรื่องง่ายเหมือนขี่จักรยาน วิชาแคลลูลัสคงบรรจุอยู่ในหลักสูตรประถมต้น และหนังสือปรัชญาอ่านยากคงเป็นได้แค่นิทานก่อนนอน—คุณอาจไม่เห็นด้วยกับการตีความทื่อๆแบบนี้ ไม่เป็นไร ผมหวังว่าคุณจะได้รับความกระจ่างหลังจากที่ได้อ่านหนังสือเล่มนั้น

ไม่ใช่แค่กับเรื่องงาน ชีวิตของผมก็ซับซ้อนไม่ต่างกัน

แต่คุณคงไม่อยากฟังคนแปลกหน้าที่จู่ๆก็พุ่งตรงเข้ามาหาเพื่อจะพล่ามเกี่ยวกับเรื่องของตัวเองแน่ๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเขานิยมชมชอบเคียร์เคอการ์ด นักปรัชญาผู้ช่างตั้งคำถามไปกับทุกเรื่อง) ผมก็ไม่! นั่นคงดีกว่าถ้าผมจะแนะนำตัวสักหน่อย

สวัสดีครับ ผมชื่อปอนด์ ตอนนี้ผมเป็น Remote UX/UI Designer อยู่ที่ BlueSeas Enterprise งานของผมคือคอยรับผิดชอบในส่วนของประสบการณ์การใช้งานผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีให้กับมนุษยชาติ (ไปพร้อมๆกับเพิ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจอีกเล็กน้อย) ด้วยการลากวางและขยับเจ้าพวกก้อนพิกเซลทั้งหลายให้อยู่ในจุดที่ควรอยู่ด้วยโปรแกรมที่ชื่อ Figma ให้ทันตามกรอบเวลาที่หัวหน้าผมกำหนดไว้

ทีนี้เราก็ไม่แปลกหน้ากันแล้ว



คำถามที่ซับซ้อน

ขณะที่กำลังเขียน อายุงานผมใกล้จะครบ 5 ปี กับการรับผิดชอบโครงการมาแล้วเกือบครึ่งร้อย และที่สำคัญไม่เคยย้ายงานเลย ทำให้สามารถพูดได้ว่า ผมเคยประสบกับภาวะหมดไฟมาหลายครั้ง ภาวะที่ความอิ่มตัวจากการสุงสิงกับงานในสภาพแวดล้อมเดิมๆติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเริ่มส่งสัญญาณเชิงลบ ภาวะที่รู้สึกเบื่อหน่ายกับความคันไม้คันมือของตัวเองเวลาเห็นอะไรที่ออกแบบมาไม่ดี ภาวะที่การสะกดจิตตัวเองไม่ให้แอบแก้ไขงานหลังจากที่ส่งมอบไปแล้วเป็นความท้าทายพอๆกับการไม่พลั้งปากเพิ่มไข่ดาวเมื่อสั่งข้าวผัดกะเพรา

มันทำให้เกิดคำถามแบบเดียวกับเวลาที่เราเจอวิกฤติชีวิต ซึ่งผุดขึ้นมาเป็นประจำทุกคืนวันอาทิตย์ก่อนนอน ตัวอย่างเช่น

  • ผมมาทำอะไรอยู่ที่นี่?
  • นี่คืองานที่ผมรักจริงๆใช่มั้ย?
  • ชีวิตมีเพียงเท่านี้หรือ?
  • แมวเป็นของแข็งหรือของเหลว?

เกือบทั้งหมดของคำถามเหล่านั้น เป็นอะไรที่ผมไม่ได้อยากรู้คำตอบ ยกเว้นคำถามสุดท้ายที่ทำให้ผู้ที่สงสัยยอมลงแรงวิจัยอย่างจริงจังจนได้รับรางวัล Ig Noble จากผลงานชื่อ แมวสามารถเป็นได้ทั้งของแข็งและของเหลวหรือไม่? ซึ่งผมจะไม่ขอลงความเห็นตรงนี้

แต่มันมีคำถามนึงที่ผมสนใจ ซึ่งต่างกับคำถามอื่นๆตรงที่มันไม่ใช่คำถามประเภทที่เอาไว้บ่นพึมพำกับตัวเองเพื่อสำเร็จความใคร่ทางการคิด แต่เป็นคำถามทั่วๆไปที่ผมถูกถามบ่อยจากคนรอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนร่วมสายอาชีพและบรรดาพี่ป้าน้าอาในวันรวมญาติ และเป็นคำถามที่ตอบได้ยากยิ่ง

“คุณมาเป็นนักออกแบบได้ยังไง?”

ก็แค่เล่าที่มาที่ไปก่อนที่จะมาเป็นนักออกแบบ มันยากตรงไหน? มันก็ใช่ เพราะเกือบทั้งหมดของคำตอบที่ผ่านมาเป็นเช่นนั้น แต่ลึกๆ มันมีอะไรมากกว่าแค่คำถามที่ต้องตอบ (ถึงแม้ผู้ถามจะต้องการแค่นั้นจริงๆ) ตรงที่มันทำให้ผมฉุดคิดอะไรใหม่ๆได้เสมอ ผมมักรู้สึกอยากได้เวลาครุ่นคิดและเรียบเรียงสักหน่อยก่อนจะตอบ 

ทำไม? มันอาจมีหลายเหตุผลที่ทำให้ผมรู้สึกแบบนั้น แต่ที่ดูเหมือนจะชัดเจนที่สุดน่าจะเกี่ยวกับภูมิหลังด้านการศึกษาของผม หมายถึง ผมเป็นเด็กที่เรียกว่าไม่ได้ประสบความสำเร็จในด้านการเรียนนัก จากหัวกะทิของสายชั้นตอนอนุบาล สู่ที่โหล่ตอนมัธยม จนสุดท้ายเรียนไม่จบปริญญาตรี ซึ่งเป็นได้ว่า ความไม่ลงรอยกันนี้ (ระหว่างอาชีพการงานสายเทคที่ดูดีกับภูมิหลังด้านการศึกษาที่ตรงกันข้าม) ทำให้คำถามนั้นเปิดโอกาสให้กับความขัดแย้งและซับซ้อนของชีวิต เป็นหนึ่งในหัวข้อที่ผมเองก็สนใจ—นั่นเพราะชีวิตผมไม่เคยเรียบง่ายละมั้ง

และเมื่อมองลึกลงไปที่หลืบของความไม่ลงรอยนั้น ก็จะพบว่ามันคือความไม่สอดคล้องกันของสิ่งที่ควรจะเป็น (ถ้าเรียนไม่จบก็ไปเป็นนั่นหรือสอบนี่สิ) เป็นสิ่งยืนยันว่าชีวิตของผมเป็นอะไรที่คาดเดาไม่ได้ ไม่ราบรื่น ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ เป็นชีวิตที่ดำเนินผ่านความบังเอิญและการตัดสินใจผ่านสัญชาตญาณ มันเหมือนกับการบุกป่าฝ่าดงโดยการแผ้วถางทางเดินด้วยตัวเอง หลายครั้งที่ลงเอยด้วยการหลงทาง ย่ำอยู่กับที่ หรือกระทั่งตัดนิ้วก้อยมาปิ้งกินเพื่อให้มีแรงเดินต่อ (ซึ่งผมคิดว่าคงได้พลังงานไปไม่มากกว่าตีนไก่ทอด และไม่! นิ้วผมยังครบดี)

จากทั้งหมดทำให้ดูเหมือนว่า เส้นทางการมาเป็นนักออกแบบของผมเป็นอะไรที่ยากลำบากและเต็มไปด้วยนานาอุปสรรค ก็ไม่เชิง แต่กระนั้นไม่ได้หมายความว่าการเป็นนักออกแบบเป็นอะไรที่ยาก กลับกัน เพราะแม้ชีวิตผมจะเฮงซวยและเต็มไปด้วยปรากฏการณ์พิลึกๆแบบนั้น ผมก็ยังมาเป็นนักออกแบบได้ นั้นคงทำให้ใครหลายๆคน รวมทั้งเพื่อนๆของผมที่อยากย้ายสายงาน ได้รับกำลังใจบ้างไม่มากก็ไม่เลย

กระทั่งกลายมาเป็นบทความที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้...

แต่เพื่อให้มากกว่าแค่บทความที่พล่ามถึงเรื่องของตัวเอง (ที่ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าคุณจะอยากอ่าน) ผมจะลองค่อยๆสืบสวนถึงที่มาของมัน ไม่ใช่แค่ ผมเป็นใครและทำอะไรมาบ้าง? แต่เป็น ผมเป็นใครและอะไรที่ทำให้ผมเป็นใครแบบนั้นไม่ใช่แบบอื่น? แม้จะฟังดูเหมือนการเปิดประเด็นโต้เถียงทางอภิปรัชญาหรือคำถามกวนประสาทเพื่อหาเรื่องชวนทะเลาะ แต่นั่นไม่ใช่เจตนา ผมเพียงแค่ปราถนาความท้าทาย เพราะถ้าไม่มีคนอ่านจริงๆ อย่างน้อยก็มีผลพลอยจากการเขียนครั้งนี้คือ การได้ครุ่นคิดและพูดคุยกับตัวเอง ซึ่งก็สนุกดีเวลาเถียงกันไปมาคนเดียว แต่ผมชอบเวลาที่ได้ถูกเขียนไปพร้อมๆกับตอนกำลังคิดมากกว่า

รู้สิ่งอื่นคือความฉลาด รู้ตนเองคือปัญญา ควบคุมสิ่งอื่นคือพลังงานอำนาจ ควบคุมตนเองคือพลังอันแท้จริง — เล่าจื่อ

สุดท้ายหากคุณไม่ได้อยากรู้จักผม เพราะแค่หลงเข้ามาอ่าน ก็ให้คิดเสียว่านี่เป็นบทความแปลกๆบนอินเทอร์เน็ตซึ่งถูกเขียนโดยคนเพี้ยนๆที่คุณสามารถติดตามได้อย่างถูกกฏหมายก็ได้ (ซึ่งนั่นจะเป็นการผูกภาระโดยเจตนาที่จะทำให้ผมต้องเขียนบทความนี้ต่อไปอีกด้วย)

ว่าแต่ผมจะเริ่มยังไงดี?

เริ่มจากสมมุติฐานละกัน



สมมุติฐาน

เนื่องจากชีวิตนั้นช่างซับซ้อน การสืบสวนหาความจริงจากความทรงจำที่ผ่านมาก็ไม่ต่างอะไรกับการผจญภัยไปด้วยกันกับเพื่อนในจินตนาการวัยเด็ก ที่ทั้งสนุกและฆ่าเวลาได้ดี นั่นทำให้สมมุติฐานเป็นสิ่งจำเป็น การสืบสวนที่ดีต้องมีจุดเริ่มต้น และจุดเริ่มต้นที่ดีจะสร้างอาณาเขตทางความคิดที่เหมาะสม (หรือไม่ผมก็แค่พยายามหาเหตุผลมารองรับเพื่อจะให้บทความยาวขึ้น—และยอมรับเถอะ มันทำให้ผมดูเป็นมืออาชีพ)

และเนื่องจากคำถามที่ว่า “ผมมาเป็นนักออกแบบได้ยังไง?” เป็นคำถามปลายเปิดที่สามารถตอบได้กว้างมาก กรณีแย่ที่สุดมันอาจลามไปถึงหัวข้อทางปรัชญาชวนปวดหัวมากมาย สิ่งที่ต้องทำคือการบีบกรอบความเป็นไปได้ให้แคบลง เพื่อที่จะให้สามารถโฟกัสไปยังหัวข้อหนึ่งๆได้

ผู้ถามมากกว่าครึ่งรู้จักผมในระดับนึง ผมมีสมมุติฐาน(ที่เต็มไปด้วยอคติ)ว่า คำถามนั้นอาจจะมีนัยแฝงบางอย่างอยู่ (เหมือนที่ผมมักรู้สึกว่ามีนัยะซ่อนอยู่ในทุกๆย่อหน้าของวรรณกรรมยุคคลาสสิก) ซึ่งเป็นไปได้ว่า ผู้ถามน่าจะอยากถามแบบนี้มากกว่า

“ทั้งที่หมอนี่เรียนก็ไม่จบ แต่กลับมีคุณสมบัติหรือทักษะจนทำให้กลายเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าทางระบบเศรฐกิจสมัยใหม่ได้ยังไง?”

ด้วยสมมุติฐานที่พยายามทำให้ตัวเองเป็นเหยื่อนี้ ทำให้ผมสามารถโฟกัสไปยังคุณสมบัติหรือทักษะต่างๆที่อาจทำให้ผมสามารถมาเป็นนักออกแบบได้ หลังจากนั่งครุ่นคิดอยู่นานหลายวัน ได้ความประมาณว่า

  • ผมรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความสวยงามได้
  • ผมขี้สงสัย อยากรู้อยากเห็น และชอบตั้งคำถามเงียบๆ
  • ผมกล้าตัดสินใจ โดยเฉพาะสิ่งที่สัญชาตญาณบอกว่าใช่
  • ผมขี้เกรงใจจนน่าหงุดหงิด แต่ก็เข้าอกเข้าใจผู้อื่นได้ดี
  • ผมชอบเรียนรู้ด้วยตนเอง และหวาดระแวงกับอะไรก็ตามที่ระบบการศึกษาป้อนให้เสมอ

ถ้าชีวิตของเราถูกประกอบขึ้นจากนานาประสบการณ์ที่เราให้ความสนใจ (ที่มากและต่อเนื่องพอ) ความสนใจนั้นจะตกตะกอนกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนเรา การสืบสวนโดยมองย้อนกลับไปว่าความสนใจอะไรที่ทำให้ผมมีคุณสมบัติหรือทักษะเหล่านั้น คำตอบอาจจะอยู่ที่นั่น แต่ก็มีประเด็นที่ควรระวัง จริงอยู่ที่ประสบการณ์ของเราอาจจะระลึกได้ง่าย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณมีความจำเหมือนช้าง) แต่มันก็อาจเต็มไปด้วยอคติและการแต่งเติมของเราได้เช่นกัน แน่นอนว่าผมไม่อาจทำให้มันใสสะอาดปราศจากอคติราวมนุษย์อีค่อนได้ อย่างมากก็แค่ แยกแยะความชัดเจนของมันด้วยภาษาบ้านๆ เช่น "อาจ" หรือ "น่าจะ" อะไรเทือกๆนั้น

ซึ่งในแต่ละคุณสมบัติ ผมจะลองเชื่อมโยงมันเข้ากับเหตุการณ์หรือช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ด้วยเหตุผลในความสุนทรีย์ล้วนๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณสมบัติดังกล่าวเกิดขึ้นจากเหตุการณ์นั้น มันเป็นเพียงตัวแทนของเหตุการณ์ที่เด่นชัดที่สุดต่อคุณสมบัติ

โอเคเรามาเริ่มกันเลย...

ซึ่งในตอนต่อไป ผมจะมาลงรายละเอียดกันกับคุณสมบัติแรก การรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความงาม

ใช่! ตอนต่อไป ขอโทษที่ผมใช้อำนาจในฐานะผู้เขียนได้ค่อนข้างแย่ ซึ่งผมรู้ว่ามันอาจเป็นประสบการณ์ในการอ่านที่ไม่ดีนัก แต่ผมมีความจำเป็นจะต้องแยกแต่ละหัวข้อออกจากกัน เพื่อที่ผมจะได้เผยแพร่สิ่งที่เขียนเสร็จแล้วออกไปเสียบ้าง (เหมือนกับการส่งงานเป็นงวดๆ) เพราะต้นฉบับของบทความนี้มีจำนวนคำมากกว่าแปดพัน ซึ่งกว่าผมจะเขียนและปรับแก้ไขได้จนจบ คุณคงได้อ่านมันในวันคริสต์มาสเป็นแน่—แต่ผมขอสัญญาด้วยเกียรติของลูกเสือว่า บทความขนาดเต็มจะเผยแพร่ภายในปีนี้แน่นอน

ขอบคุณที่อดทนและสละเวลาอันมีค่าในการอ่านมาจนจบ ไว้พบกันใหม่ครับ



ภาพประกอบ: Padre Sebastiano (ca. 1904–1906) by John Singer Sargent. Original from The MET Museum.

Pond Narongrit
Senior UX/UI Designer @BlueSeas Enterprise

About Pond Narongrit

สวัสดี! ผมปอนด์ ที่นี่คุณจะได้พบกับบทความขนาดสั้นเกี่ยวกับ การออกแบบ, ปรัชญา, ปัญหาชีวิต และแมว เขียนสดวันต่อวัน เพื่อดัดนิสัยตัวเองที่มักไม่ยอมเผยแพร่บทความสักที